Cooling Tower เป็นอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อนโดยใช้วิธีการระเหยตัวของน้ำ (Evaporation) ในขบวนการ จะมีการสูญเสียน้ำไปส่วนหนึ่ง แต่น้ำส่วนใหญ่ยังคงนำกลับมาใช้ได้อีก โดยปกติเราสามารถจะนำ Cooling Tower ไปใช้ในการระบายความร้อนของน้ำในการหล่อเย็นกับอุปกรณ์ใดๆ ก็ได้ เช่น การหล่อเย็นอุปกรณ์ในขบวนการผลิต การหล่อเย็นอุปกรณ์ในโรงผลิตกระแสไฟฟ้า ฯลฯ แต่การใช้ Cooling Tower ที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุดก็คือ การใช้ Cooling Tower ในการระบายความร้อนจากระบบปรับอากาศ
การที่ Cooling Tower เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้น้ำสามารถถ่ายเทความร้อนไปสู่อากาศได้นั้นสามารถอธิบายได้คือ Cooling tower เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยในการฉีดน้ำมันที่อุณหภูมิสูงให้กระจายตัวออกเป็นละอองเล็กๆ ตกผ่านแผงกระจายละอองน้ำ (Baffles or Fill Material) ละอองน้ำเหล่านี้จะเกาะตัวกับแผงกระจายละอองน้ำ ทำให้เกิดเป็นพื้นที่เปียก ซึ่งจะสัมผัสกับอากาศที่ถูกดูดผ่านแผงกระจายละอองน้ำ ก่อให้เกิดขบวนการถ่ายเทความร้อนสัมผัสระหว่างน้ำที่มีอุณหภูมิสูงกับอากาศที่มีอุณหภูมิต่ำ ขณะเดียวกันนั้นละอองน้ำบางส่วนก็จะระเหยตัวกลายเป็นไอน้ำไปในอากาศ เพราะอากาศในขณะนั้นยังมีสภาพไม่อิ่มตัว น้ำจึงสามารถระเหยกลายเป็นไอได้ดีมาก ซึ่งขบวนการระเหยกลายเป็นไอของละอองน้ำนี้จำเป็นต้องใช้ความร้อน ดังนั้นละอองน้ำที่ระเหยตัวจึงดึงความร้อนจากปริมาณน้ำที่เหลืออยู่ อาจกล่าวได้ว่า ขบวนการถ่ายเทความร้อนภายใน Cooling Tower แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
1.การถ่ายเทความร้อนสัมผัส (Sensible Heat) จากอุณหภูมิน้ำที่สูง ไปสู่อุณหภูมิของอากาศที่ต่ำกว่า
2.การถ่ายเทความร้อนแฝง (Latent Heat) จากการระเหยตัวของน้ำไปสู่อากาศที่ยังไม่อิ่มตัว
หลักการทำงานของ Cooling Tower นี้มีปัจจัยหลายอย่างที่ช่วยเพิ่มการระบายความร้อนของน้ำอุณหภูมิสูง ได้ดังนี้
1. เพิ่มการแตกตัวของละอองน้ำทำให้พื้นที่ผิวของละอองน้ำในการถ่ายเทความร้อนเพิ่มมากขึ้น
2. เพิ่มพื้นที่แผงกระจายละอองน้ำเพื่อทำให้น้ำมีโอกาสสัมผัสกับอากาศมากขึ้น
3. เพิ่มปริมาณอากาศ เพื่อเพิ่มอัตราการถ่ายเทความร้อน